Copyright 2024 - สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่ ล่วงมาแล้ว 5 วัน แต่เบาหวานก็ยังอยู่กับเราต่อไปทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต ท่านที่มีความรู้เรื่อง “โรคเบาหวาน” ดีพอ มีวินัยและมีแนวปฏิบัติในวิถีทางดำเนินชีวิตที่ดีเหมาะสมเพียงพอ ก็จะมีชีวิตยืนยาวได้อย่างมีความสุข ปราศจากโรคแทรกซ้อนของโรคนี้

ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร เน้นยํ้าว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลก ในปัจจุบัน ถึงแม้การรักษาโรคเบาหวานได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก แต่พบว่าประชากรที่สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ มีเพียงร้อยละ 30-60 ในประเทศที่เจริญแล้ว และอาจน้อยกว่าร้อยละ 30 ในประเทศที่กำลังพัฒนา ระดับนํ้าตาลในเลือดที่สูงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะ ต่าง ๆ เช่น ตา ไต เท้า หัวใจ สมอง และอื่น ๆ อีกมากมาย ภาระค่าใช้จ่ายที่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องแบกรับ อันเกิดจากการรักษาโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในแต่ละปีคิดเป็นจำนวนเงินมหาศาล ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวานโดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยงจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และคุ้มค่ากว่าการให้การรักษาเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้ว

 

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีแต่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ภาวะที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ได้แก่ ผู้ที่มีความผิดปกติข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้ ผู้ที่อ้วน (มีดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 25 กิโลกรัม/เมตร 2 และ/หรือมีรอบเอวมากกว่า 32 นิ้วในผู้หญิงหรือ 36 นิ้วในผู้ชาย) และมีพ่อ แม่ พี่หรือน้องเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากกว่า 250 มก./ดล. และ/หรือ HDL คอเลสเตอรอลในเลือดตํ่ากว่า 35 มก./ดล. ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือคลอดลูกที่มีนํ้าหนักตัวแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่มีโรคถุงนํ้าในรังไข่

เบาหวาน ป้องกันได้ในผู้มีความเสี่ยง

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการควบคุมปริมาณและชนิดของอาหาร ร่วมกับการมีกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอโดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะลดนํ้าหนักตัวในผู้ที่มีนํ้าหนักตัวเกินลงอย่างน้อยร้อยละ 5-7 ในประชากรกลุ่มเสี่ยง สามารถลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 30-50 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวสามารถลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานในประชากรกลุ่มเสี่ยงได้ แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติในชีวิตจริง สาเหตุสำคัญเนื่องจากผู้ปฏิบัติไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้นํ้าหนักตัวลดลงไม่มาก หรือบางรายนํ้าหนักตัวที่เคยลดลงกลับเพิ่มขึ้นมาอีก ผู้ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมนํ้าหนักได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในระยะยาวได้

 

โดยสรุป การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานด้วยการตรวจระดับนํ้าตาลในเลือดในประชากรกลุ่มเสี่ยง จะมีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันโรคในผู้ที่ยังไม่เป็นโรค และช่วยในการให้การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ในผู้ที่ไม่เคยทราบว่าตนเองเป็นโรค การตรวจพบและการรักษาโรคเบาหวานตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะให้ผลในการรักษาโรคดีกว่าคอยให้โรคเป็นมากแล้วค่อยมารักษาอย่างแน่นอน

 

ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย.... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/750172

 

f t g m

ภาคี

 

                       

   

 

ค้นหา