Copyright 2024 - Custom text here

สวัสดีครับผมชื่อ T วันนี้ผมได้รับโอกาสจากอาจารย์ท่านหนึ่งในการมาแบ่งปันประสบการณ์เรื่องของเบาหวานกับการออกกำลังกาย ปัจจุบัน ผมอายุ 37 ปี ผมเป็นเบาหวานมาตั้งแต่อายุ 21 ปีครับ ครั้งแรกที่ทราบว่าเป็นเบาหวานนั้น เพราะจู่ๆน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว จากน้ำหนักตัว 73 กิโลกรัม ภายในเวลาไม่เกิด 1เดือน น้ำหนักลดเหลือ 60 กิโลกรัม ตอนนั้นนึกว่าติดเชื้อ HIV ซะแล้ว (ฮา) ผมไม่ทราบว่าผมเป็นเบาหวานชนิดไหน แต่ที่แน่ๆ มันเกิดขึ้นกับผมแล้ว ในวัย 21 ปี ซึ่งถือว่าเป็นตั้งแต่อายุน้อยมาก

            สาเหตุที่อาการของโรคแสดงออกมาผมคาดว่ามาจาก การใช้ชีวิตในช่วงนั้น กินเหล้า เที่ยวดึกดื่น ผมพักผ่อนน้อยมาก นอนวันละเพียง 3-4 ชม. ใช้ชีวิตแบบนี้ อยู่เกือบปี ไม่เคยออกกำลังกาย กินอาหารทุกอย่างตามใจปาก คาดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคเบาหวานที่ซ่อนอยู่ในตัวอยู่แล้ว แสดงออกมา

            หลังจากการวินิจฉัยว่าผมเป็นเบาหวานแน่นอนแล้ว คุณหมอได้เริ่มต้นการรักษาด้วยการให้ทานยาและฉีดอินซูลินทันที (เป็นสิ่งที่สยองมากการเอาเข็มแทงพุงตัวเองในขณะนั้น) ตอนนั้นไม่กลัวนะครับ กับโรคเบาหวาน ไม่เคยเห็นถึงความอันตราย คิดว่าเราอายุยังน้อย อนาคตเดี๋ยวก็หายได้ แต่การคิดแบบนี้ยิ่งทำให้เราไม่สนใจที่จะดูแลร่างกายของเราเอง เรียกว่าตอนนั้นอยู่ในความประมาทมากๆ

            จากวันที่รู้ว่าเป็นเบาหวาน การใช้ชีวิตผมยังคงไม่ต่างจากเดิม กิน เที่ยว พักผ่อนน้อย ทานอาหารตามใจปาก ไม่ออกกำลังกาย สิ่งที่ตามมาคือ การคุมระดับน้ำตาล ไม่เคยถึงเป้าเลย HbA1c(ระดับน้ำตาลสะสม) อยู่ที่ 9-11% ตลอด ซึ่งอาจารย์หมอที่รักษาบอกว่า มันควรจะอยู่ไม่เกิน 7% (โดนบ่นว่าแทบทุกครั้งที่ไปตรวจ) คิดว่าทุกท่านคงเคยผ่านช่วงเวลาแบบนี้ ก่อนวันพบอาจารย์หมอ ตื่นตระหนกกับผลการตรวจน้ำตาล (โดนอาจารย์หมอด่าแน่ๆ)  ซึ่งทุกครั้งก็ได้แต่รับปากอาจารย์หมอว่าผมจะทำให้ดีขึ้น (อาจารย์หมอที่จุฬาฯ ผมพูดได้เต็มปากเลยครับว่ารักษาเราด้วยความตั้งใจสุดๆ กันทุกคน ทั้งปลอบ ทั้งดุด่า ทั้งให้กำลังใจเพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดีต่อสู้กับโรคเบาหวานได้)

            เหตุการณ์ยังคงดำเนินมาเป็นลักษณะนี้อยู่ 15 ปี (นานนะครับ กับการปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับน้ำตาลในเลือดแบบนี้) จนถึงช่วงอายุ 36 ปี สุขภาพเริ่มแย่ เป็นภูมิแพ้บ่อย โรคหลายๆโรคที่ตอนอายุน้อยๆไม่เป็น มันเริ่มมา ถามว่าเบาหวานมีผลมั้ย ผมไม่ทราบ แต่ผมคิดว่า มันคงถึงเวลาแล้ว กับการต้องทำอะไรสักอย่างให้ตัวเอง เราสุขสบายกับการกินการเที่ยว การไม่ดูแลตัวเองมานานแค่ไหนแล้ว จนเดือนกันยายน 2558 ผมได้ลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อตัวเอง

            ปี 2558 เป็นปีที่เพื่อนๆของผม ไปวิ่งตามงานต่างๆทั้งใน กรุงเทพและต่างจังหวัด วิ่งมินิมาราทอน ฮาฟมาราทอน และ มาราทอนกันอย่างสนุกสนาน ก็เลยคิดว่า งั้นเราเริ่มวิ่งละกัน (ช่วงนั้นลงพุงมากด้วย น้ำหนักตัว 81 กิโลกรัมมากสุดในชีวิตเลยครับ) วันที่ 4  กันยายน 2558 ผมตัดสินใจเริ่มวิ่ง ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าการวิ่งจะมีผลกับเบาหวานมากน้อยแค่ไหน ผมรู้แต่ว่าผมควรจะทำอะไรดีๆให้ร่างกายตัวเองได้แล้ว วันที่ผมตัดสินใจว่าผมจะวิ่งแล้วนะ ผมบอกกับตัวเองว่า จะไม่ยอมให้มีแม้แต่เหตุผลเดียวมาหยุดการวิ่งของผม”

            จากวันนั้น ผมวิ่งทุกวัน วันละนิดละหน่อย แรกๆวิ่ง100 เมตรก็หอบลิ้นห้อยแล้วครับ (ฮา) วิ่งไม่ไหวก็เดิน หายเหนื่อยก็วิ่งต่อ ทำให้ได้ 30 นาทีในทุกๆวัน เชื่อไหมครับ ร่างการคนเรามันมหัศจรรย์มาก เพียงแค่ 2 อาทิตย์ เราจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในร่างกายของเรา เราเหนื่อยน้อยลงทุกครั้งที่ออกไปวิ่ง เราสดชื่นขึ้น ร่างกายเรากระปรี้กระเปร่า ในทุกๆวัน จนครบ 1 เดือน ผมบอกได้เลยว่าเราจะเสพติดการวิ่งไปในทันที วันไหนไม่ได้วิ่งแล้วจะรู้สึกหงุดหงิด

            นอกจากออกกำลังกายแล้ว ผมยังคุมอาหารร่วมด้วยนะครับ ผมเลิกทุกอย่าง ของหวาน น้ำอัดลม ควบคุมปริมาณข้าวที่กินในแต่ละมื้อ ผลไม้หวานๆที่เคยชอบ กาแฟเย็นใส่นมหวานๆชื่นใจที่เคยต้องทานทุกวัน ผมลดละเลิกจนหมด มีความสุขกับการกินมาตั้ง 30 กว่าปีแล้วนะ กินจนคุ้มทุกสิ่งทุกอย่างแล้วนะ หลังจากนี้เราจะเลือกกินสิ่งที่ดีๆมีประโยชน์ให้มากขึ้นจะเป็นไรไป (แต่ไม่ใช่ว่ากินไม่ได้เลยนะครับ กินได้บ้างแต่ต้องไม่บ่อย ดูระดับน้ำตาลของตัวเองอยู่เสมอ)

            ผลจากการวิ่งและการคุมอาหาร น้ำหนักตัวผมลดลงมาจาก 81 กิโลกรัม เหลือ 70 กิโลกรัม ใน 3เดือน ภูมิแพ้ต่างๆดีขึ้น รู้สึกได้เลยว่าร่างกายแข็งแรงขึ้น และแล้วก็ถึงวันที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจ ระดับน้ำตาล รอบนี้มีความมั่นใจลึกๆว่าผลต้องดีขึ้นแต่ไม่คิดว่ามันจะดีขึ้นขนาดนี้  HbA1c (ระดับน้ำตาลสะสม) ของผมเหลือ 6.6% ซึ่ง อาจารย์แปลกใจมากว่าไปทำอะไรมา จากคนที่เหลวไหล คุมน้ำตาลไม่ได้ ผมก็เลยเล่าให้อาจารย์ฟังว่าเราทำอะไรบ้าง จะเห็นว่าเพียงแค่เวลาสั้นๆ 3 เดือนถ้าเราตั้งใจทำมันอย่างสม่ำเสมอ ระดับน้ำตาลของเราก็ไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไปเลยครับ

            นอกจากวิ่งแล้วทุกวันนี้ ผมยังปั่นจักรยาน เข้ายิม เล่นเวท ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ ถามว่าจะทำแบบนี้ไปได้นานแค่ไหน ผมสัญญากับร่างกายตัวเองไว้แล้วว่าผมจะทำมันไปตลอดชีวิต 37 ปีที่ใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วง ผมว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มดูแลมันให้อยู่กับเราไปนานๆ การออกกำลังกายวันละ 30 นาทีไม่ยากอย่างที่คิดนะครับ การคุมอาหารให้ทานในสิ่งที่เหมาะสมก็เช่นกันครับ ทำได้ไม่ได้ อยู่ที่ใจของเราล้วนๆเลยครับ

            นอกจากเราจะมีสุขภาพที่ดี เจ้าเบาหวานก็ไม่กล้ามาอาละวาดในร่างกายเราแล้ว เรายังถือว่าได้ช่วยอาจารย์หมอของเราให้เหนื่อยน้อยลงในการดูแลคนไข้ไป 1 คน เวลาอาจารย์เห็นผลตรวจสุขภาพของเราก็เป็นแรงใจให้ท่านอาจารย์หมอทั้งหลาย ปลื้มใจ ภูมิใจที่คนไข้ของท่าน มีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยนะครับ โรคนี้หมอเก่งอย่างเดียวช่วยเราไม่ได้นะครับ เราต้องเป็นคนไข้ที่เก่งด้วย

            สุดท้ายนี้ขอบคุณที่อ่านบทความของผม ขอแค่ 1 คนที่อ่านเรื่องนี้แล้วนำไปปฏิบัติ ผมก็มีความสุขแล้ว เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ โรคนี้เราจัดการกับมันได้และอยู่กับมันได้อย่างมีความสุขครับ  ขอบคุณครับ

            ป.ล. การออกกำลังกายควบคู่กับการคุมอาหาร ต้องสังเกต ระดับน้ำตาลตัวเองอยู่เสมอนะครับป้องกันการเป็นลมจากภาวะน้ำตาลต่ำ และปรึกษากับอาจารย์หมอของท่านอย่างสม่ำเสมอนะครับ

 

Vintage image created by Ijeab - Freepik.com

เข้าใจเบาหวาน



ประเมินความเสี่ยงเบาหวาน



น้ำตาล</span >


วันเบาหวานโลก


สถิติ


บริจาค


วารสารเบาหวาน


วงล้อดัชนีน้ำตาล


เครือข่ายชมรมเบาหวาน

 

เครือข่ายบริบาลและการลงทะเบียนเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานวินิจฉัยก่อนอายุ 30 ปี

Thai-Type 1 Diabetes and Diabetes diagnosed Age before 30 years Registry, Care and Network (T1DDAR CN) เครือข่าย T1DDAR CN

คู่มือ


สื่อการสอน T1DDAR CN และ
DSME module



สมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่าย
T1DDAR CN

รู้จักเรา "T1DDAR CN"


ประมวลภาพกิจกรรม


หนังสือ


 

เอกสารโครงการ T1DDAR CN


T1DDAR CN DASH BOARD


ช่องทางติดต่อเครือข่าย T1DDAR CN

 

 
 

 



 







 
 

4167513
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
6990
11464
51501
67130
217973
3634670
4167513

Your IP: 172.70.126.128
2024-11-21 10:23