ประวัติสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมาคมโรคเบาหวานในต่างประเทศส่วนมากจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของแพทย์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือองค์กรสงเคราะห์ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาล แต่ในการจัดตั้งสมาคมโรคเบาหวานของประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นจากผู้ป่วยเบาหวานร่วมกับแพทย์ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
ความคิดเริ่มต้นมาจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดงาน"สัปดาห์แห่งโรคเบาหวาน" เป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 15 - 21 มีนาคม พ.ศ.2508 เลขาธิการแพทยสมาคมฯ ในขณะนั้นคือ นพ.สนอง อูนากูล ได้ให้ความเห็นแนะนำในที่ประชุมว่า “ประเทศไทยควรมีสมาคมโรคเบาหวานเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากประเทศอื่นๆ มีการจัดตั้งสมาคมกันมานานแล้ว” จนเมื่อวันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2508 คณะกรรมการแพทยสมาคมฯได้พิจารณาเรื่องนี้แล้วมีมติเห็นชอบ จึงดำเนินการยื่นจดทะเบียนที่กองสันติบาล และได้รับการจดทะเบียนจัดตั้ง“สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย”เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมพ.ศ. 2509 นายกสมาคมคนแรกคือ นายเกษม ศุขโรจน์ ได้รับการเลือกตั้งโดยสมาชิกในวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 และได้มีมติให้ถือเอา วันที่ 7 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันเกิดของสมาคม เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันแห่งประวัติศาสตร์ ที่ได้มีการริเริ่มก่อตั้งสมาคมขึ้น โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน
นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย อดีตจนถึงปัจจุบัน
-
นายเกษม ศุขโรจน์ พ.ศ. 2508 – 2509
-
ศ.นพ. สุนทร ตัณฑนันทน์ พ.ศ. 2510 – 2511
-
นายอรุณ แสงสว่างวัฒนะ พ.ศ. 2512 – 2519
-
ศ.นพ.สนอง อูนากูล พ.ศ. 2520 – 2527
-
ศ.เกียรติคุณ นพ. สุนทร ตัณฑนันทน์ พ.ศ. 2528 – 2548 / พ.ศ. 2549 - 2553
-
ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา พ.ศ. 2554
-
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน
ผลการดำเนินงานในระยะแรก
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในระยะแรกได้แก่ รวบรวมผู้ที่สนใจเรื่องโรคเบาหวานเข้าใจกันเป็นกลุ่มก้อน แลกเปลี่ยนความรู้และปรึกษาหารือกันในปัญหาต่าง ๆ ของโรคเบาหวานจากแพทย์และสมาชิกด้วยกัน เป็นศูนย์กลางรับจัดรวบรวมบทความที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ช่วยเหลือแนะนำและให้ความรู้หรือคำบรรยาย แก่ประชาชนในเรื่องโรคเบาหวาน รวมทั้งช่วยส่งเสริมและวิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้าเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่อาจช่วยตัวเองได้ตามสมควร
สมาคมฯ ได้พยายามดำเนินการตามวัตถุประสงค์โดยเผยแพร่ความรู้ทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ มีการจัดประชุมและแจกจ่ายวารสารโรคเบาหวานให้แก่สมาชิก ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจดังจะเห็นว่า มีแพทย์ท่านหนึ่งได้ปรารภ เมื่อปีพ.ศ. 2513 ว่า พ่อตาของท่านซึ่งเป็นผู้พิพากษาและเป็นเบาหวาน มีความรู้ดีในเรื่องเบาหวานยิ่งกว่าตัวท่านเองเสียอีก เพราะได้อ่านวารสารเบาหวานเป็นประจำ ได้ฟังการบรรยายทุกครั้งทำให้ได้มีโอกาสซักถามแพทย์มากขึ้น ผู้บัญชาการเรือนจำท่านหนึ่งก็ได้บอกว่า ท่านรอดตายจากการอ่านวารสารเบาหวานแท้ๆ เพราะวันหนึ่งท่านเกิดรู้สึกหิว มือสั่น และมุมปากกระตุก โดยที่ท่านทราบว่าเป็นอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ท่านจึงรีบกินน้ำตาลทันที ทำให้รอดพ้นจากการหมดสติไปได้ และภรรยาของนายพันเอกท่านหนึ่งเล่าว่า สามีของท่านก็รอดตายจากอุบัติเหตุ โดยที่เกิดอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะขับรถ จึงรีบจอดรถข้างทางเสียทันที ก่อนที่ท่านจะหมดสติไป ฯลฯ
นอกจากนี้สมาคมฯยังได้ร่วมกับแพทยสมาคมและสถาบันอื่นๆ อีก 8 สถาบัน ทำการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ เพราะเห็นว่า บุหรี่ก็คือยาพิษดีๆ นี่เอง ที่แฝงเข้ามาคอยทำลายสุขภาพของประชาชนโดยไม่รู้สึกตัว นอกจากบุหรี่จะเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดเป็นมะเร็งในปอดและถุงลมโป่งพองแล้ว ยังทำให้เกิดหลอดเลือดตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่าย ซึ่งโรคนี้โดยปกติก็พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานอยู่แล้ว ฉะนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรสูบบุหรี่อย่างยิ่ง
สมาคมฯได้สมัครเข้าเป็นองค์การสมาชิกของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในปี 2510 และได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์เบาหวานโลก โดยสมาคมโรคเบาหวานของอินเดียและปากีสถานช่วยรับรอง ยังผลให้ได้เข้าเป็นสมาชิกอันดับที่ 36 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 สมาคมได้มีการติดต่อกับสหพันธ์ด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จาก ศ.นพ. สุนทร ตัณฑนันทน์ อุปนายกของสมาคมโรคเบาหวานได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาของสหพันธ์เบาหวานโลก ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติและเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของชนชาวไทย
ในอดีตสมาคมฯได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นสถานพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2512 ได้ช่วยตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมอาหารเบาหวาน และบางครั้งก็จ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยอนาถา โดยมิได้คิดเงิน แต่ในปัจจุบันด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคนจึงไม่ได้ดำเนินการเป็นสถานพยาบาลแล้ว
สมาคมฯได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้อยู่ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2551 เนื่องจากสมาคมฯไม่แสวงหาผลประโยชน์ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ได้ดำเนินงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมตามวัตถุประสงค์และเพื่อเป็นศิริมงคล รวมถึงเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานด้านโรคเบาหวานของคณะกรรมการ ทางสมาคมฯซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ในปัจจุบัน
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ มีอายุครบ 50 ปี ในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งในปัจจุบันสมาชิกมีทั้งหมด จำนวน 925 คน แบ่งแต่ละประเภทดังนี้
-
สมาชิกกิตติมศักดิ์ 53 คน
-
สมาชิกสามัญ 3 คน
-
สมาชิกตลอดชีพ 869 คน
3.1 แพทย์ 184 คน
3.2 พยาบาล 71 คน
3.3 บุคลากรทางการแพทย์ 28 คน
3.4 หน่วยงาน 9 แห่ง
3.5 ประชาชน 577 คน
แผนงานในอนาคต
สมาคมโรคเบาหวานฯมีความมุ่งมั่นและยังคงคงเดินหน้าในการให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีแผนการดำเนินงานได้แก่ การจัดประชุม จัดทำวารสารเบาหวาน จัดทำสื่อความรู้เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการป้องกันโรค มีส่วนร่วมและผลักดันการวางแผนนโยบายระดับชาติ ส่งเสริมงานวิจัย และสานต่อความร่วมมือกับองค์กรณ์นานาชาติ เพื่อลดอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวาน ส่งเสริมการรักษาโรคให้ได้มาตรฐาน และป้องกันภาวะแทรกซ้อน
เครือข่ายบริบาลและการลงทะเบียนเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานวินิจฉัยก่อนอายุ 30 ปี
Thai-Type 1 Diabetes and Diabetes diagnosed Age before 30 years Registry, Care and Network (T1DDAR CN) เครือข่าย T1DDAR CN
สื่อการสอน T1DDAR CN และ
DSME module
สมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่าย
T1DDAR CN