Copyright 2025 - Custom text here

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทส่วนปลายจากโรคเบาหวาน หรือบางคนอาจเรียก “เบาหวานลงเท้า” ภาษาทางการแพทย์เรียก  diabetic polyneuropathy มีอาการแสดงได้หลากหลาย ในระยะแรก บางรายจะมาด้วยอาการปวดแสบปวดร้อนเหมือน โดนนํ้าร้อนลวกบริเวณเท้าทั้งสองข้าง หรือ บางรายอาจมีอาการปวดแปลบ ๆ คล้ายเข็มตำบริเวณเท้าหรือเหมือนโดนไฟฟ้าช็อต ส่วนใหญ่มักมีอาการตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ถ้าเป็นรุนแรงก็อาจมีอาการทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางรายกลายเป็นโรคซึมเศร้า อาการเหล่านี้สามารถรักษาหรือบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาร่วมกับการควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือด อย่างไรก็ตาม อาการ “เบาหวานลงเท้า” ที่พบบ่อยกว่า คือ อาการชา โดยเริ่มที่บริเวณเท้าทั้งสองข้างก่อน แล้วค่อย ๆ ลุกลามไปยังมือทั้งสองข้าง อย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ความรุนแรงของอาการชามีตั้งแต่อาการน้อยมาก ๆ คือ ไม่รู้สึกว่าชา ต้องอาศัยการตรวจจากแพทย์ ไปจนถึงอาการรุนแรง คือ ชามากจนไม่รู้สึกสัมผัส ซึ่งในบางรายอาจมีปัญหาต่อการเดินและการทรงตัว ทำให้หกล้มได้ง่าย

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงระวีวรรณ เลิศวัฒนารักษ์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ผู้ให้ข้อมูลบทความนี้จะกล่าวเฉพาะอาการเท้าชา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เกิดในผู้เป็นเบาหวานได้บ่อยโดยเฉพาะเมื่อเป็นเบาหวานมานาน ๆ และควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดได้ไม่ดีนัก เกิดขึ้นจากระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม ทำให้สูญเสียประสาทรับความรู้สึก ลักษณะอาการเท้าชาที่เกิดจากโรคเบาหวาน มักจะมีอาการชาหรือคล้ายเป็นเหน็บและความรู้สึกสัมผัสลดลง ทำให้เมื่อเท้าสัมผัสของมีคม จะไม่รู้สึกเจ็บ อาการเท้าชาที่เกิดขึ้นมักจะมีอาการทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน และเริ่มชาจากปลายนิ้วเท้าก่อน แล้วเริ่มชาไล่ขึ้นไปบริเวณหลังเท้าและขาทั้งสองข้าง ในกรณีรุนแรงจะมีระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อมร่วมด้วย ทำให้ผิวหนังบริเวณเท้าทั้งสองข้างแห้ง ปริแตกได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง ถ้ามีระบบประสาทส่วนปลายเสื่อมอยู่นาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อเล็ก ๆ บางมัดบริเวณเท้าฝ่อลง เกิดเท้าบิดผิดรูป ซึ่งจะส่งผลต่อนํ้าหนักที่กดทับบริเวณฝ่าเท้าเวลาเดิน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่เท้าและเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกตัดนิ้วเท้าหรือขา โดยเฉพาะถ้ามีความผิดปกติของหลอดเลือดส่วนปลายร่วมด้วย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดอาการชา หรือ ระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม ได้แก่ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน การควบคุมระดับนํ้าตาลที่ไม่ดี การสูบบุหรี่ ระดับไขมันในเลือดสูง และ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

     ดังนั้นการรักษาที่สำคัญคือ การควบคุมระดับนํ้าตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ควบคุมความดันโลหิตและระดับไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการ งดการสูบบุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในรายที่มีอาการชามาก ๆ แล้ว การรักษามักไม่ได้ผลดี การรับประทานวิตามินบีมักไม่ช่วยทำให้อาการชาดีขึ้น เพราะอาการชาไม่ได้เกิดจากการขาดวิตามิน ยารักษาปลายประสาทอักเสบบางชนิดอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้บ้างแต่ไม่สามารถทำให้อาการชาหายไปได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสม ส่วนยาสมุนไพร อาหารเสริม ยาลูกกลอน ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันถึงประสิทธิภาพในการลดอาการดังกล่าว นอกจากการรับประทานยาตามแพทย์สั่งแล้วนั้น เมื่อมีอาการเท้าชา อาจเกิดแผลโดยไม่รู้สึกตัวได้ ดังนั้นควรทำความสะอาดเท้าด้วยนํ้าสะอาดและสบู่อ่อน วันละสองครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอนทุกวัน ทำความสะอาดทุกครั้งที่เท้าเปื้อนสิ่งสกปรก เช็ดเท้าให้แห้งทันทีรวมทั้งบริเวณซอกนิ้วเท้า ตรวจเท้าก่อนนอน สำรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวัน เพื่อดูว่ามีแผลขนาดเล็ก ๆ หนังด้านแข็ง ตาปลา รอยแตกหรือการติดเชื้อราเกิดขึ้นหรือไม่ ตรวจสอบรองเท้าก่อนการสวมใส่เสมอเพื่อดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมซ่อนอยู่ภายในซึ่งอาจทำอันตรายต่อเท้าและเกิดแผลได้ สวมถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า เลือกใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดี เหมาะสมกับรูปเท้าและทำจากวัสดุที่นุ่ม ควรเป็นรองเท้าหุ้มส้น ไม่มีตะเข็บหรือมีตะเข็บน้อย และมีเชือกผูก เพื่อให้ปรับความพอดีกับเท้าได้ หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่ทำด้วยยางหรือพลาสติกและรองเท้าแตะประเภทที่ใช้นิ้วเท้าคีบสายรองเท้า เนื่องจากทำให้มีโอกาสเกิดการเสียดสีเป็นแผลได้ง่าย ห้ามแช่เท้าในนํ้าร้อน หรือใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนวางที่เท้า ดูแลเท้า  เล็บเท้า และตัดเล็บเท้าโดยผู้ชำนาญอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันเล็บขบ การอักเสบของนิ้วเท้า ห้ามตัดตาปลาหรือหนังด้านแข็งด้วยตนเอง

           การรักษาระบบประสาทส่วนปลายเสื่อมจากโรคเบาหวานที่เป็นมานานแล้วมักได้ผลการรักษาไม่ดี ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนชนิดนี้ หรือ กรณีเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้ว การให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกมักจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า โดยพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจประเมินระดับความรู้สึกที่เท้าโดยใช้เครื่องมือการตรวจที่ได้มาตรฐาน (monofilament test) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ควบคุมระดับนํ้าตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามแพทย์แนะนำ รวมทั้งควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวข้างต้น และหากพบมีแผล แม้เพียงเล็กน้อย ให้ทำความสะอาดแผลทันที ในกรณีแผลไม่ดีขึ้นหรือไม่แน่ใจ ให้รีบพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ

     ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงระวีวรรณ เลิศวัฒนารักษ์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย... อ่านต่อที่ https://www.dailynews.co.th/article/744314

เข้าใจเบาหวาน



ประเมินความเสี่ยงเบาหวาน



น้ำตาล</span >


วันเบาหวานโลก


สถิติ


บริจาค


วารสารเบาหวาน


วงล้อดัชนีน้ำตาล


เครือข่ายชมรมเบาหวาน

 

เครือข่ายบริบาลและการลงทะเบียนเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานวินิจฉัยก่อนอายุ 30 ปี

Thai-Type 1 Diabetes and Diabetes diagnosed Age before 30 years Registry, Care and Network (T1DDAR CN) เครือข่าย T1DDAR CN

คู่มือ


สื่อการสอน T1DDAR CN และ
DSME module



สมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่าย
T1DDAR CN

รู้จักเรา "T1DDAR CN"


ประมวลภาพกิจกรรม


หนังสือ


 

เอกสารโครงการ T1DDAR CN


T1DDAR CN DASH BOARD


ช่องทางติดต่อเครือข่าย T1DDAR CN

 

 
 

 



 







 
 

4564333
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
280
12242
24661
92867
203127
4223747
4564333

Your IP: 172.70.127.230
2025-01-21 00:45