โรคเบาหวานในหน้าร้อน
โดยปกติเวลาอากาศร้อน ร่างกายเราจะพยายามรักษาอุณหภูมิให้คงที่สบายตัวด้วยการมีเหงื่อ เวลาเหงื่อระเหยจะทำให้ร่างกายเย็นลง
คนไข้เบาหวานจะมีความเสี่ยง และปัญหาในช่วงอากาศร้อนมากกว่าคนทั่วไปด้วยเหตุ:-
1. คนไข้เบาหวานมีปัญหาหลอดเลือดไมดี ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่มาที่ผิวหนังเพื่อระบายความร้อนไม่ดี
2. ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมต่อมเหงื่อก็เสียทำให้ไม่มีเหงื่อ ระบายความร้อนด้วยการระเหยของเหงื่อที่ผิวหนังไม่ดี
3. การออกฤทธิ์ของอินซูลิน เปลี่ยนแปลงไป ระดับน้ำตาลไม่คงที่
4. ยามีโอกาสเสื่อมจากความร้อนได้ง่าย ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
5. ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูง น้ำก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น ทำให้ร่างกายยิ่งขาดนำ้มากยิ่งขึ้น
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวช่วงหน้าร้อนสำหรับคนไข้เบาหวาน
1. ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ให้มากกว่าปกติ
2. ไม่ดื่มน้ำหวาน เครื่องดื่มชูกำลัง แอลกอฮอร์ กาแฟ และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น
3. เลี่ยงอาหารรสจัด เพราะความเค็มจะทำให้กระหายน้ำมากยิ่งขึ้น
4. เก็บยาให้ดี ไม่เก็บในที่ร้อน ยาฉีดที่กำลังใช้อยู่ในช่วงอากาศร้อนก็ควรเก็บในตู้เย็น
5. เวลาเดินทางใช้กระเป๋าหรือใส่ภาชนะที่รักษาอุณหภูมิได้ดีกว่าที่เคยใช้อยู่ประจำ
6. ใส่เสื้อผ้าหลวม เบา ระบายความอากาศได้ดี
7. หลีกเลี่ยงการออกแดดเวลาอากาศร้อน เพราะอุณหภูมิกลางแดดจะสูงกว่าในร่มได้มากถึง 10 องศา
8. หลีกเลี่ยงการทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรเปลี่ยนเวลาออกกำลังกายใช้เช้าขึ้น หรือค่ำลง หรือออกกำลังในห้องแอร์
9. ไม่เดินเท้าเปล่า พื้นอาจร้อนจัดจนเท้าพองได้
10. เตรียมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินหรือคนใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ในเวลาที่ร่างกายอ่อนเพลียมากไว้ใกล้มือ
ด้วยความปรารถนาดี
รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์
เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย