วิธีเตรียมตัว “ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19” สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน

การดูแลผู้ป่วย

 

นาทีนี้ คงไม่มีเรื่องไหนที่อยู่ในความสนใจของคนทั้งโลกมากไปกว่าความคืบหน้าในการฉีด “วัคซีนโควิด-19” อีกแล้ว รายงานล่าสุดจาก Bloomberg เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 3.6 พันล้านโดส หรือเฉลี่ย 32.1 ล้านโดส/วัน 

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย มีการฉีดวัคซีนไปแล้วถึง 14,130,489 โดส เฉลี่ยอยู่ที่ 250,655 โดส/วัน หรือคิดเป็น 10.1% ของประชากรทั้งประเทศ โดยที่การฉีดจะมุ่งเน้นให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ได้แก่

  1. บุคลากรทางการแพทย์ ครอบคลุมทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สัมผัสและใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง 
  2. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่ม NCDs หรือโรคติดต่อไม่เรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ 
  4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการคัดกรองและควบคุมโรคโควิด-19 เช่น ตำรวจ อสม. ฯลฯ 
  5. ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

 

คำถามคือ ทำไมผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีโรคประจำตัวในกลุ่ม NCDs ถึงได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อน? ทั้งที่บางคนไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือมีอายุมากด้วยซ้ำ?

คำตอบคือ ผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่ม NCDs ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่หากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงกว่า และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือโรคกลุ่ม NCDs จะมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรคเบาหวานทำให้ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อรุนแรงขึ้น โดยหลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ผันผวนมากกว่าปกติจนยากต่อการควบคุม จากนั้นภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำงานได้ลดลง ส่งผลให้เชื้อเติบโตและกระจายได้ง่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

เมื่อถึงเวลาฉีดวัคซีนโควิด-19 ขั้นตอนต่อไปก็คือการเตรียมตัวให้พร้อม แล้วผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต้องเตรียมตัวหรือดูแลสุขภาพก่อนฉีดวัคซีนอย่างไร? วันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก ดังนี้

  • ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงจนเกินไป เพื่อให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง
  • รับประทานยาควบคุมเบาหวานต่อไป ไม่ควรหยุดยาเอง โดยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดวัคซีนทุกครั้งว่ารับประทานยาตัวไหนบ้าง ยกเว้นกรณีที่แพทย์สั่งให้หยุดยาชั่วคราวเพื่อผลลัพธ์ของวัคซีน วิธีนี้ทำได้ถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ 
  • หากมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ แต่ต้องหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดชนิดแรง เช่น แอสไพริน เพราะความแรงในตัวยาอาจไปกดการตอบสนองในร่างกาย ทำให้วัคซีนแสดงผลลัพธ์ได้น้อยลง

 

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ผู้ป่วยเบาหวานได้รับวัคซีนแล้ว หากมีอาการของโรคเบาหวานกำเริบ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่กับการฉีดวัคซีนก็ตาม ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจำเป็นต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีอยู่เสมอทุกช่วงเวลา ทั้งการรับประทานยาเบาหวานสม่ำเสมอ ควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ สำรองอาหารที่มีน้ำตาลไว้ใกล้ตัวกรณีเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ออกกำลังกายที่เหมาะสม ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อน และที่ขาดไม่ได้คือ กำลังใจดี ๆ จากครอบครัว ญาติ และคนใกล้ชิดที่จะทำให้การดูแลสุขภาพผู้ที่เป็นโรคเบาหวานในยุคโควิด-19 ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดอีกด้วยครับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

  • https://www.bloomberg.com/graphics/covid-vaccine-tracker-global-distribution
  • https://www.bangkokhospital.com/content/know-well-before-getting-the-covid-19-vaccine
  • https://www.thonburibamrungmuang.com/news
  • https://www.bangkokhearthospital.com/content/disease-if-infected-with-covid-19
  • https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line

ผู้สนับสนุนโครงการ