ครบรอบ 30 ปี "วันเบาหวานโลก" ภารกิจส่งต่อความรู้และกำลังใจสู้ภัยเบาหวาน

การดูแลผู้ป่วย

 

ถ้าถามว่าโรคเบาหวานคืออะไร? เชื่อว่าหลายคนที่อ่านบทความนี้อยู่ต้องตอบได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ พร้อมให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างละเอียด แล้วรู้หรือไม่ว่า โรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก จนสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ก่อตั้ง “วันเบาหวานโลก” ขึ้นมาเลยทีเดียว

วันเบาหวานโลก ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534 หรือเมื่อ 30 ปีก่อน เนื่องจากในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การก่อตั้งวันเบาหวานโลกขึ้นมา จึงเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนเห็นความสำคัญและเกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานมากขึ้น โดยเหตุผลที่เลือกวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้น เพราะตรงกับวันเกิดของเฟรเดอริก แกรนท์ แบนติง  นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา หนึ่งในผู้ค้นพบอินซูลินเป็นครั้งแรกของโลกนั่นเอง

โดยภารกิจสำคัญของวันเบาหวานโลก คือ การส่งต่อความรู้ด้านการรักษา การดูแลสุขภาพ พร้อมมอบกำลังใจดี ๆ จากบุคลากรทางการแพทย์ถึงผู้ดูแลผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยเบาหวานเอง ซึ่งสอดคล้องกับสัญลักษณ์ของวันเบาหวานโลกที่เป็นวงกลมสีฟ้า ที่หมายถึง “การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานเพื่อเผชิญกับภาวะเบาหวานทั่วโลก”

สมาพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดหัวข้อรณรงค์วันเบาหวานโลก พ.ศ. 2564-2566 ไว้ว่า “การเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไร” ซึ่งทางสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมเนื่องในวันเบาหวานโลก ปี 2564 ในช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ภายใต้คอนเซปต์ “คุมเบาหวานดี #ของมันต้องมี” ผ่าน 5 สิ่งจำเป็นที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานขาดไม่ได้ ได้แก่

 1. อินซูลินที่ดี

หลังการค้นพบอินซูลินเมื่อ 100 ปีก่อน ยังมีผู้ป่วยเบาหวานอีกนับล้านที่ยังไม่ได้รับอินซูลิน ดังนั้น การเข้าถึงอินซูลินที่มีคุณภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานทุกคน

 2. ยารักษาโรคเบาหวานที่ดี

ยารักษาโรคเบาหวานบางตัวยังไม่มีใช้ในบางประเทศ หรือยังไม่สามารถหาซื้อได้ ทางสมาคมฯ และหน่วยงานต่าง ๆ จึงมุ่งมั่นจัดหายารักษาโรคเบาหวานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนสามารถเข้าถึงยาเหล่านั้นได้

 3. อุปกรณ์ที่ผู้ป่วยใช้ตรวจเบาหวานด้วยตนเองที่ดี

การตรวจเลือดเพื่อติดตามการรักษาเป็นสิ่งจำเป็น แต่มีผู้ที่เป็นเบาหวานอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถหาซื้ออุปกรณ์ตรวจน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตนเอง ซึ่งทางสมาคมฯ เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอุปกรณ์ตรวจน้ำตาลในเลือดได้อย่างเท่าเทียม

 4. ความรู้ที่ถูกต้องด้านการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นในการต่อสู้กับโรคเบาหวาน แต่ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องได้ ทางสมาคมฯ จึงร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงคำแนะนำด้านการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเป็นโรคเบาหวานอีกด้วย

 5. อาหารและการออกกำลังกายที่ดี

ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือผู้ที่มีความเสี่ยงควรมีโอกาสเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสถานที่ออกกำลังกายที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดูแลตนเอง พร้อมช่วยป้องกันโรคเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งทางสมาคมฯ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่างช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพทุกมื้อ พร้อมจัดกิจกรรมกระตุ้นให้หันมาออกกำลังกายมากขึ้นด้วย

ซึ่งภายในงานวันเบาหวานโลกในปีนี้ มีการจัดเสวนาเรื่องโอกาสและการเข้าถึงการรักษาโรคเบาหวานใน 5 ประเด็นสำคัญที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากนั้น ยังมีการออกบูธจากหน่วยงานต่าง ๆ จากภาครัฐและเอกชนมากมาย เช่น ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องโรคเบาหวานที่เข้าใจง่ายผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ สอนวิธีทำความสะอาดเท้าสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทดลองใช้แอปพลิเคชันเช็กค่าน้ำตาลในเลือด ชิมชีสเค้กสูตรพิเศษที่รังสรรค์มาเพื่อผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะ ให้คำแนะนำเรื่องปรับสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ เล่นเกมออกกำลังกายที่สนุกและได้เผาผลาญพลังงานในร่างกาย เป็นต้น

แม้ใน 1 ปีจะมีวันเบาหวานโลกแค่ 1 ครั้ง แต่การดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้ดีอยู่เสมอ เพื่อรับมือและป้องกันโรคเบาหวานควรทำเป็นประจำทุกวัน เพราะเบาหวานไม่เบาใจ และไม่ควรหนักเกินไปจนสายเกินเยียวยา

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

ผู้สนับสนุนโครงการ