ผู้ป่วยเบาหวานกับการดูแลตัวเองให้เบาใจในช่วงโควิด-19

การดูแลผู้ป่วย

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่ม NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หากติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาก็อาจมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เชื้อลงปอดจนหายใจลำบาก บางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เกิดภาวะไตวาย หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว

และจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังน่ากังวล ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงไม่ควรเบาใจ ด้วยการหันมาดูแลตัวเองให้เข้มงวดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด

เคล็ด(ไม่)ลับดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานป้องกันโควิด-19

  1. ตรวจวัดระดับน้ำตาลที่ปลายนิ้วอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อเช็กตัวเองก่อนระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงเกินไป
  2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่สูงจนเกินไป
  3. อย่าลืมฉีดอินซูลินทุกวัน
  4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่อย่างน้อย 20 วินาที/ครั้ง
  5. หมั่นทำความสะอาดสิ่งของหรือบริเวณที่สัมผัสบ่อยๆ เพื่อลดการรวมตัวของเชื้อโรค เช่น โทรศัพท์มือถือ โต๊ะ คอมพิวเตอร์ สวิตช์ไฟ กลอนหรือลูกบิดประตู ฯลฯ
  6. ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละ 15-30 นาที
  7. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ และครบ 5 หมู่ โดยเน้นโปรตีนที่ย่อยง่ายและไขมันต่ำ เช่น ปลา ไก่ ผักและผลไม้สด ส่วนของว่างอาจเลือกกินถั่วเปลือกแข็ง เช่น ถั่วแดง ถั่วปินโต ถั่วดำ ถั่วลูกไก่ เพราะมีใยอาหารสูง และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
  8. ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพราะการขาดน้ำคือสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  9. งดการเดินทางโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงไปพื้นที่แออัด และพยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อจากนอกบ้าน

 

ใช้ชีวิตนอกบ้านอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19
กรณีที่มีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน เช่น ทำธุระสำคัญที่เลื่อนไม่ได้ หรือไปพบแพทย์ ผู้ป่วยเบาหวานต้องป้องกันตัวเองเพื่อลดการรับเชื้อโควิด-19 ดังนี้

  1. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน 
  2. เว้นระยะห่างทางสังคม โดยอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร
  3. หมั่นล้างมือด้วยเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์บ่อยๆ 
  4. หลีกเลี่ยงการพบปะ หรือสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
  5. เมื่อไอหรือจาม ควรใช้ต้นแขนหรือข้อพับมาปิดปากและจมูกแทนมือ เพราะมือที่ไปสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ อาจเป็นสาเหตุของการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้
  6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก ปาก หรือหน้ากากอนามัย

 

สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องมีติดตัวอยู่เสมอในยุคโควิด-19

  1. ยารักษาโรคเบาหวาน ควรหมั่นเช็กบ่อยๆ ว่าเหลือเท่าไรแล้ว เพื่อจะได้ไปรับยา หรือติดต่อสถานพยาบาลได้ทันก่อนที่ยาจะหมด
  2. ของหวาน เช่น น้ำหวาน ลูกอม หรือขนมที่มีรสหวาน หากเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ จะได้หยิบมารับประทานได้ทันที
  3. เบอร์ติดต่อหน่วยงาน สถานพยาบาล หรือบุคคลที่ไว้ใจได้ กรณีมีไข้สูง ไอ หรือหายใจลำบาก ปากแห้ง กระหายน้ำมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เพื่อรับการรักษาด่วน เช่น กรมควบคุมโรค โทร 1422 ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร 1669 สายด่วนโควิด-19 เฉพาะกิจ โทร 1668 เป็นต้น
  4. เอกสารส่วนตัวกรณีเข้ารับการรักษาหากติดเชื้อโควิด-19 เช่น บัตรประชาชน ใบตรวจโควิด-19 เอกสารประกันโควิดหรือประกันสุขภาพ (ถ้ามี)

 

เพราะโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องที่เบาใจได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพ และสุขอนามัยของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ ห้ามประมาทเด็ดขาดเลยนะครับ และถ้าไอ มีไข้สูง หรือรู้สึกหายใจติดขัดเมื่อไร ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน


ขอบคุณข้อมูลจาก 

  • https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/อันตรายของโรคโควิด-19ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • https://www.phyathai.com/article_detail/3522/th/
  • https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/april-2020/recommendations-patients-diabetes-during-covid19 

ผู้สนับสนุนโครงการ